Haijai.com


ศัลยกรรมปรับเสียงให้เป็นสาว


 
เปิดอ่าน 6483

ศัลยกรรมปรับเสียงให้เป็นสาว

 

 

ถึงแม้จะไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นและสัมผัสได้ แต่เสียงก็เป็นอีกหนึ่งโสตประสาทที่สำคัญของร่างกาย และเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพของคนพูด คนที่มีน้ำเสียงใสพูดจาไพเราะใครๆ ก็อยากฟัง ถึงแม้รูปร่างหน้าตาอาจดูธรรมดาไม่สวยหล่อขั้นเทพ แต่การเป็นคนพูดเพราะ มีน้ำเสียงสดใส ก็นับเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงนี้ค่อนข้างได้รับความสนใจมากในเพศที่สาม หรือผู้ชายที่อยากกลายเป็นหญิง เพราะทั้งทำหน้าอกทั้งแปลงเพศมาก็หมดแล้ว เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวที่สาวๆ ประเภทสองเขาใฝ่ฝัน นั่นก็คือการมีเสียงแหลมเล็กน่ารักดูเป็นผู้หญิง

 

 

หลายคนอาจจะได้ประสบพบเจอกับตัวเองมาบ้างแล้วกับคนเพิ่งรู้จักที่เรานึกว่าเป็นผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เธอเล่นสวยน่ารักอย่างกับผู้หญิงซะอย่างนั้น ไม่ว่าใครได้เจอก็ต้องลงความเห็นว่าเป็นหญิงแท้แน่นอน แต่เมื่อสบโอกาสได้ยินเธอเอื้อนเอ่ยออกมาเท่านั้นแหละ ทำเอาหลายคนอึ้งไปตามๆ กัน แต่ก็น้อยครั้งที่เธอจะเปล่งเสียงออกมาเพราะกลัวใครๆ จะรู้ว่าแท้จริงฉันนะหญิงปลอม

 

 

“น้ำเสียง” นับเป็นอีกหนึ่งปมด้อยของสาวประเภทสอง เพราะด้วยความอยากเป็นผู้หญิง การทำศัลยกรรมเสริมเต้านมและศัลยกรรมแปลงเพศ วิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันก็สามารถทำได้ แต่กับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจากผู้ชายให้กลายเป็นผู้หญิง ทางการแพทย์ยังถือว่าอยู่ในระหว่างการพัฒนาการทดลองและศึกษาวิจัย แต่ยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนถวิลหา คนกลุ่มนี้จึงขวนขวายให้ได้มาเพื่อลดปมด้อยของเพศชาย

 

 

โครงสร้างของกล่องเสียง

 

กล่องเสียง (Larynx) มีลักษณะเป็นท่อรูปกรวย ประกอบด้วยกระดูกอ่อนหลายชิ้นยึดต่อกันด้วยกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเอ็นจำนวนมากอยู่ระหว่างคอหอยและหลอดลม ด้านบนมีฝ่ากล่องเสียง (Epiglottis) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนที่สามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ เพื่อเปิดให้อากาศผ่านเข้าออก หรือปิดเมื่อกลืนอาหาร กล่องเสียงทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง โดยอาศัยกล้ามเนื้อบนผนังภายในแต่ละข้าง 2 ชุด ได้แก่ สายเสียงเทียม (False Vocal Cord) และสายเสียงแท้ (True Vocal Cord) แต่ละข้างแยกออกจากกันเป็นร่องรูปตัว V เรียกว่า ช่องสายเสียง (Glottis) ทำหน้าที่สร้างเสียง ดังนั้น “เสียง” จึงเกิดจากการสั่นของสายเสียงขณะอากาศไหลออกจากปอด ทำให้เกิดคลื่นเสียงสูงๆ ต่ำๆ จากนั้นจึงถูกอวัยวะในช่องปากและคอปรับแต่งเป็นคำพูดและเกิดความก้องกังวาน หากไม่ได้พูดสายเสียงจะคลายตัวพับทบกันอยู่ที่พนังกล่องเสียง ตรงกลางจึงเป็นช่องว่างให้อากาศผ่านเข้าออกอย่างอิสระ แต่เมื่อเปล่งเสียง กล้ามเนื้อที่ควบคุมกระดูกอ่อนของกล่องเสียงทำให้สายเสียงตึงขึ้น เคลื่อนตัวมาชิดกันตรงกลางและเกิดการสั่น ทำให้เกิดเสียงสูงต่ำต่างกันไปตามระดับความตึงตัวและรูปร่างของสายเสียง

 

 

การผ่าตัดเปลี่ยนเสียง

 

การเปลี่ยนผ่าตัดเปลี่ยนเสียงมี 2 แบบ คือ การเปลี่ยนเสียงจากผู้หญิงเป็นผู้ชาย โดยปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์สามารถทำได้ แต่มีคนทำค่อนข้างน้อย และการเปลี่ยนเสียงจากผู้ชายมาเป็นผู้หญิง ซึ่งมีคนทำมากกว่า โดยหลักการแล้วปกติเสียงผู้ชายจะเป็นเสียงที่ทุ้มกว่า ต่ำกว่าของผู้หญิง โดยวัดจากความถี่พื้นฐานของเสียง (Fundamental frequency) หรือเรียกอีกอย่างว่า พิทช์ (Pich) พิทช์ของผู้ชายจะอยู่ที่ประมาณ 100-150 เฮิร์ตซ์ (Hz) ในขณะที่ผู้หญิงจะมีเสียงแหลมสูงกว่าโดยอยู่ที่ประมาณ 170-200 เฮิร์ตซ์ (Hz) หากต้องการแยกเสียงระหว่างผู้ชายและผู้หญิงโดยไม่เห็นหน้า พบว่าหากเสียงทุ้มกว่า 160 เฮิร์ตซ์ (Hz) ก็จะแปลความว่าเป็นผู้หญิง

 

 

เสียงแหลมหรือเสียงทุ้มนั้น ขึ้นอยู่กับความตึง ความยาว และความสั้นของเส้นเสียง ถ้าเส้นเสียงตึงมากเสียงจะแหลมสูง ถ้าเส้นเสียงหย่อนเสียงก็จะทุ้มขึ้น ขึ้นกับลักษณะสายเสียงด้วยว่าสายเสียงมีขนาดเล็กหรือใหญ่ เปรียบเหมือนเส้นสายกีตาร์ สายกีตาร์เส้นเล็กจะมีเสียงแหลมแต่เส้นที่ใหญ่กว่าจะมีเสียงทุ้ม ซึ่งโดยโครงสร้างที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา สายเสียงผู้ชายจะมีขนาดใหญ่และยาวกว่า สายเสียของผู้หญิงจะมีขนาดเล็กและสั้นกว่า ดังนั้น การเปลี่ยนเสียงผู้หญิงให้เป็นเสียงผู้ชายต้องทำให้สายเสียงยาวขึ้น หย่อนลง ตึงน้อย ส่วนการเปลี่ยนเสียงผู้ชายให้เป็นเสียงผู้หญิงต้องทำให้สายเสียงสั้นลงและตึงมากขึ้น

 

 

แต่โดยปกติแล้วการเปลี่ยนสายเสียงไม่ได้ขึ้นกับเรื่องของความถี่พื้นฐานเสียง (Fundamental frequency) หรือ พิทช์ (Pitch) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของการกำทอนหรือการสั่นพ้องของเสียง (Resonance) ด้วย (การกำทอนหรือการสั่นพ้องของเสียง คือ ปรากฏการณ์การสั่นของวัตถุที่มีความถี่ของการสั่นเท่ากับความถี่ธรรมชาติ จะทำให้วัตถุนั้นมีการสั่นที่รุนแรงที่สุด) หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ชัดเจนคือการสีซอ ระหว่างซออู้และซอด้วง ซอทั้งสองชนิดมีกะลามะพร้าวที่เป็นตัวเรโซแนนซ์เสียง ซออู้เปรียบได้กับเสียงของผู้ชายที่มีเสียงทุ้มต่ำ ซอด้วงเปรียบได้กับเสียงของผู้หญิงที่มีเสียงแหลมเล็ก สำหรับตัวเรโซแนนซ์เสียงของมนุษย์ คือ โครงสร้างของกล่องเสียง ลำคอ และศีรษะ ด้วยธรรมชาติโครงสร้างเหล่านี้ของผู้ชายจะมีขนาดใหญ่กว่าของผู้หญิง กล่องเสียงมีความยาวมากกว่า ดังนั้น จึงทำให้เกิดเสียงทุ้มและดังกังวานมากกว่า ในขณะที่โครงสร้างของผู้หญิงจะมีความแคบและสั้นกว่า ผู้หญิงจึงมีเสียงที่ค่อนข้างแหลม

 

 

วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจากชายให้กลายเป็นหญิง

 

อย่างที่เราทราบกันเบื้องต้นแล้วว่า หลักการเปลี่ยนเสียงของผู้ชายให้กลายเป็นผู้หญิง นั่นก็คือต้องทำให้เส้นเสียงมีความสั้นลงและตึงมากขึ้น ซึ่งวิธีการในการผ่าตัดที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ยึดหลักการดังกล่าว เพื่อทำการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงให้กับคนไข้ โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

 

 

1.การเลาะและเย็บกล้ามเนื้อ เพื่อดึงสายเสียงให้ตึงขึ้น โดยธรรมชาติบริเวณกล่องเสียงจะมีกล้ามเนื้อไครโคไธรอยด์ (Cricothyroid muscle) ที่ทำให้กระดูกอ่อนไครคอยด์ (Cricoid cartilage) กับกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) งุ้มหรือผงกเข้าหากัน การเลาะแล้วเย็บกล้ามเนื้อนี้เข้าหากัน จะทำให้กระดูกอ่อนทั้งสองงุ้มเข้าหากันมากขึ้น ผลที่ได้คือสายเสียงยาวขึ้นและตึงขึ้น เป็นการรั้งให้สายเสียงสูงขึ้น เพราะฉะนั้นเสียงจึงแหลมสูงคล้ายผู้หญิงมากขึ้น แต่เมื่อกระดูกงุ้มเข้าหากันมากขึ้น จึงทำให้กระดูกนูน มองเห็นเป็นลูกกระเดือกได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อเสียของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ แต่สามารรถแก้ไขโดยการเหลาลูกกระเดือกให้แบนราบได้ และในระยะยาวคือเชือกที่เย็บไว้อาจคลายตัว (Cut to) และเริ่มกัดกินกระดูกอ่อน มีลักษณะคล้ายการใช้เชือกปอกไข่ต้ม ทำให้กระดูกอ้าออกเข้าสู่สภาพเดิม หรือสายเสียงอาจเริ่มยืดออก ซึ่งขึ้นอยู่กับเชือกที่เย็บอยู่ในตำแหน่งที่ดีหรือไม่ เพราะฉะนั้นเสียงจึงแหลมเล็กในระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็อาจกลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งการเปลี่ยนเสียงด้วยวิธีนี้ถือได้ว่ามีความเสี่ยงน้อย

 

 

2.การตัดสายเสียงให้สั้นลง วิธีนี้มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงมาก โดยการตัดสายเสียงให้สั้นแล้วดึงมายึดกับกระดูกอ่อนใหม่อีกครั้ง สายเสียงเป็นบริเวณที่อ่อนไหวได้ง่าย ซึ่งปัญหาของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ คือ สายเสียงเกิดอาการบวมและมีพังผืด ทำให้เกิดเสียงแหบตามมา เพราะโดยส่วนใหญ่แพทย์ที่ทำการผ่าตัดมักจะตัดตรงๆ ยืดให้ตึงขึ้นและเย็บติดไว้ ปัญหาคือเมื่อเกิดแผลเป็นบริเวณมุมตัว V จะทำให้เนื้อเยื่อบางๆ เชื่อต่อกันเป็นพังผืดลักษณะคล้ายอุ้งเท้าเป็ดเรียกว่า “แอนทีเรียกล็อตติกเวบ (Anterior Glottic Web)” ผลก็คือทำให้คุณภาพเสียงลดลงไป เสียงไม่สดใสเหมือนปกติ เนื่องจากความจริงแล้วกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนเสียงนี้ต่างก็มีเสียงที่ปกติซึ่งเป็นเสียงของเพศชาย แต่มีความต้องการให้เสียงแหลมเล็กเหมือนผู้หญิง ดังนั้น เมื่อทำการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงแล้ว เสียงอาจจะแหลมเล็กขึ้นบ้าง แต่จะมีเสียงแหบและไม่ค่อยดังเท่าที่ควร

 

 

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดพังผืดบริเวณนี้ที่ทำให้เกิดเสียแหบตามมาหลังผ่าตัด จึงอาจต้องมีการพัฒนาเทคนิคในการผ่าตัด ซึ่งโดยทั่วไปหลักใหญ่ๆ ของการผ่าตัดนำพังผืด Anterior Glottic Web ออกมี 3 วิธีด้วยกัน คือ

 

 

(1) Direct Laryngoscopy หรือ DL เป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แล้วใช้มีดเข้าไปตัดพังผืดอุ้งเท้าเป็ดออก หรือใช้เลเซอร์ยิงเพื่อระเหิดพังผืด ผลข้างเคียงคือมีบริเวณที่ถูกไหม้จากการเบิร์น (Burn) ของลเซอร์เล็กน้อย แต่เนื่องจากบริเวณพังผืดเป็นลักษณะของผิวเปลือย ดังนั้นเนื้อเยื่อบางๆ จึงกลับมาเชื่อมกันใหม่ เกิดเป็นกล็อตติก เวบเหมือนเดิม แต่อาจมีขนาดเล็กลงคล้ายเป็นการเปลี่ยนจากอุ้งเท้าเป็ดขนาดใหญ่เป็นอุ้งเท้าเป็ดขนาดเล็ก เป็นวิธีที่รับความนิยมสูง

 

 

(2) Endoscopic เป็นการผ่าตัดเพื่อนำแผ่นพลาสติกหรือที่เรียกว่าสเต็นท์ (Stent) ไปเป็นตัวกั้นไว้ไม่ให้เนื้อเยื่อสองฝั่งมาเชื่อมกัน โดยการใช้เข็มปักลงไปบนและใต้กล่องเสียง นำเชือกมาร้อยกับสเต็นท์โดยให้อยู่บริเวณมุมรูปตัว V แล้วนำเชือกไปผูกข้างนอกคอ ข้อเสียคือต้องผ่าตัดสองรอบเพื่อนำสเต็นท์ออกอีกครั้ง

 

 

(3) External Approach หรือ วิธีการผ่าตัดภายนอก เป็นการลงแผลจากภายนอกหรือผ่าคอ แยกแผลผ่าตัดออกแล้วใส่ตัวสเต็นท์รูปตัว T เพื่อเป็นตัวกั้นเนื้อเยื่อทั้งสองฝั่งไม่ให้มาเชื่อมกัน เสร็จแล้วจึงกลับมาผ่าเพื่อนำตัว T ออก ใช้ในกรณีที่คนไข้มีอาการรุนแรง หรือพังผืด (Web) มีความหนามากแต่สำหรับวิธีล่าสุดที่คาดว่าน่าจะเป็นแนวทางในการผ่าตัดนำพังผืด Anterior Glottic Web ออก นั่นคือการยิงด้วยเลเซอร์แล้วใช้ไหมละลาย (Absorbable) แทนสเต็นท์ (Stent) เข้าไปเย็บรั้งตัว V เอาไว้ (Anterior Commissure) ถือเป็นสเต็นท์ที่เล็กที่สุดในโลก ข้อดีคือไหมละลายสามารถเคลื่อนที่อิสระไปพร้อมกับกล่องเสียง และไม่ต้องกลับมาผ่าตัดครั้งที่สอง เนื่องจากไหมสามารถละลายได้เอง แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดพังผืดหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนเสียง มีวิธีป้องกันคือในการผ่าตัดต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเยื่อบุบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดด้วยวิธีใดก็ตาม เมื่อไม่มีการผ่าตัดให้เกิดแผลในบริเวณดังกล่าว จึงสามารถป้องกันการเกิดพังผืดขึ้นได้

 

 

วิธีเบื้องต้นซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สามารถเปลี่ยนเสียงได้คือการฝึกพูด จะเห็นได้ว่าหลายคนไม่ได้เข้ารับการผ่าตัด แต่ใช้วิธีการฝึกพูด ฝึกร้องเพลง ฝึกดัดเสียง ควบคุมกล้ามเนื้อช่องคอ และเค้นเสียงให้แหลม ซึ่งต้องประกอบกับความพยายามในการฝึกพูดอย่างจริงจัง โดยนักฝึกพูดที่มีความชำนาญ หากคนที่ตั้งใจจริงก็สามารถปรับเปลี่ยนเสียงให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น วิธีนี้จึงเป็นวิธีเบื้องต้นที่สามารถปรับเสียงได้โดยที่ไม่ต้องเจ็บตัวกับการผ่าตัด นอกจากนั้นยังมีอีกวิธีหนึ่งก็คือการทำเลเซอร์ แต่ได้รับความนิยมน้อยเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดพังผืดเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีหลายความเชื่อว่าการรับประทานฮอร์โมน เพื่อเปลี่ยนเสียงนั้นเรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม และอาจมีปัญหาจากการได้ฮอร์โมนที่เกินขนาดในการทำศัลยกรรมเสียงให้ประสบผลสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญคือความถี่พื้นฐานของเสียง (Fundamental frequency) หรือ พิทช์ (Pitch) การำทอนหรือการสั่นพ้องของเสียง (Resonance) เทคนิคในการผ่าตัดของแพทย์ (Surgical Technique) รวมถึงการฝึกพูดและการดูแลตัวเองของคนไข้หลังทำการผ่าตัดด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่ต้องการศัลยกรรมเสียงมักได้รับการทำศัลยกรรมหน้าอกและแปลงเพศมาแล้ว ซึ่งได้ผ่านการซักซ้อมสอบถามจากนักจิตวิทยามาอย่างหนัก ดังนั้น การศัลยกรรมเปลี่ยนเสียงนับว่าเป็นชั้นตอนท้ายๆ ในการเปลี่ยนเพศให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สำหรับคนที่หาข้อมูลมาครบถ้วนและตัดสินใจแล้วว่าต้องการเปลี่ยนเสียง ก่อนเข้ารับการผ่าตัดควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รักษาความสะอาดของช่องปากและลำคอไม่ให้มีการติดเชื้อ หลังจากการผ่าตัดควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยการพักเสียง ไม่ใช้เสียงมาก เพราะจะทำให้สายเสียงบวม ดูแลทำความสะอาดช่องปากป้องกันการติดเชื้อ สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น คือการติดเชื้อและเลือดออก หลังผ่าตัดอาจมีเสียงแหบ กระดูกอ่อนติดเชื้อเกิดการเสียรูป ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อเชื่อมต่อกันผิดปกติ ถือได้ว่าการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยง ดังนั้น คนที่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจริงๆ ต้องคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองดูว่าเสียงของเราทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิต ส่งผลต่อหน้าที่การงาน หรือรบกวนจิตใจมากน้อยแค่ไหน อย่าลืมว่าเมื่อทำศัลยกรรมเส้นเสียงไปแล้ว อาจไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางทีเสน่ห์คนเราอาจจะไม่ใช่น้ำเสียงเท่านั้น แต่ประกอบไปด้วยการพูดจาไพเราะ มีหางเสียง “ค่ะ/ครับ” ที่เปล่งออกมาด้วยความจริงใจ เพียงเท่านี้คนที่ได้รับได้ฟังก็รับรู้ได้แล้วว่าคนๆ นี้น่าคบหามากแค่ไหน ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงกับการทำศัลยกรรมให้เจ็บตัวเลย

 

 

“สำหรับคนที่คิดว่าอยากผ่าตัดเปลี่ยนเสียงต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ผมคิดว่าการศึกษาสำคัญ เพราะถ้าหากไม่มีการศึกษาข้อมูลมาก่อน หรือเชื่อแต่คำโฆษณาอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้เหมือนกรณีในต่างประเทศที่เกิดปัญหาขึ้นคือคนไข้มีเสียงแหบการหายใจมีปัญหา นับว่าได้ไม่คุ้มเสีย อย่ามองแค่จุดเดียว เพราะการลงทุนก็มีทั้งขาดทุนและกำไร ถ้าเรามองอย่างเดียวว่าเราจะต้องได้กำไร ทำออกมาแล้วเสียงเป็นผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นอย่างที่ต้องการก็อาจจะเกิดความผิดหวังได้ ซึ่งคนไข้อาจจะลืมไปว่าหลังผ่าตัดเสียงเรามีโอกาสเสียงแหบได้ ดังนั้น ก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้องเตรียมตัวเตรียมใจ เพราะการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงเป็นการผ่าตัดที่ทำได้ยากครับ”

 

 

นายแพทย์ธงชัย พงศ์มฆพัฒน์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา (หู คอ จมูก)

(Some images used under license from Shutterstock.com.)